ผู้ติดตาม

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

 


 

เอื้องกุหลาบแดง Aerides crassifolia

Aerides crassifolia เป็นชื่อวิทยาศาสตร์สกุลกุหลาบของกล้วยไม้ชนิดนึ้ เรารู้จักกันในนาม เอื้องกุหลาบแดง หรือเรียกกันห้วนๆว่า กุหลาบแดง กล้วยไม้ชนิดนี้เติบโตและกระจายสายพันธุ์เกือบทุกภาคพื้นที่ของป่าในประเทศไทยเรา เอื้องกุหลาบแดง มักขึ้นตามคาคบไม้สูง แต่บางครั้งเราก็พบว่ามันชอบเติบโตบนกิ่งก้านต้นไม้ที่ต่ำเพียงมือเอื้อมถึงเช่นกันลักษณะพิเศษประจำสกุลของ เอื้องกุหลาบแดง คือ มีเดือยดอกเรียวแหลมหรือปลายงอนออกมาทางด้านหน้าของดอก ลำต้นเตี้ยล่ำ ใบใหญ่สั้นหนาสีเขียวปนแดง สีแดงจะเข้มขึ้นในช่วงแห้งแล้ง ใบกว้างราว 1.5-2.0 เซนติเมตร ยาวราว 10-18 เซนติเมตร ผิวใบอาจย่นตามขวางของใบ ใบเรียงสลับระนาบเดียว ลำต้นเจริญทางปลายยอด ช่อดอกโค้งลงยาวใกล้เคียงกับใบ มีดอกช่อละ 10-20 ดอก ขนาดดอกกว้าง 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกสีชมพู-ม่วงแดง ส่วนปากดอกสีเข้ม กลีบในบิดไปด้านหลัง ดอกมีกลิ่นหอม บานช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม
กุหลาบเหลืองโคราช ( Aerides houlletiana )

กุหลาบเหลืองโคราช หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่า เหลืองโคราช เป็นกล้วยไม้สกุลกุหลาบ Aerides ที่มีลำต้นเจริญเติบโตทางยอด ต้นของ เหลืองโคราช มักตั้งตรงหรือเอนห้อยลงซึ่งแล้วแต่ปัจจัยใบของ เหลืองโคราช มีลักษณะแข็ง สีเขียวสดเรียงตัวกันคล้าย ก้างปลา เว้นระยะห่างกันเพียงเล็กน้อย ปลายใบจะมีรอยเว้าอยู่ สองแฉก หากได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด เหลืองโคราช สามารถ ให้ใบได้ตลอดลำต้นโดยไม่ทิ้งใบเลยทีเดียวดอกมีลักษณะเป็นช่อห้อยลง สั้น-ยาว แล้วแต่ลักษณะของแต่ละต้นมีพื้นกลีบสีเหลืองซีดไล่ไปจนถึงสีเหลืองสดเข้ม ปลายดอกมีสีม่วงแต้มอยู่ ในธรรมชาติบางครั้งเราอาจพบกับ เหลืองโคราช ที่มีสีขาวล้วน ซึ่งเป็นลักษณะที่หาได้ยากยิ่งและไม่ค่อยพบ เห็นได้บ่อยครั้ง เหลืองโคราช สีขาวนี้เรียกว่า เหลืองโคราชเผือก

 

เข็มแสด ( Ascocentrum miniatum )


เข็มแสด เป็นกล้วยไม้ที่มีในบ้านเรา ด้วยลักษณะที่ทนร้อนแบบ พิเศษสุด ๆ มันจึงเป็นกล้วยไม้ที่สามารถเลี้ยงในบ้านเราได้ ทุกภูมิท้องถิ่น ไม่ว่าจะกิ่งอำเภอไหนสภาพแวดล้อมโหดร้ายเพียง ได เข็มแสด ก็ไม่สะทกสะท้าน ขอแค่มีคนคอยรดน้ำให้ทุกวัน ๆ เจ้าเข็มแสดก็จะผลิช่อดอกบานให้ชมกันทุกปีลักษณะทั่วไป เข็มแสด มีใบเรียวยาว ทรงห่อ ค่อนข้างแข็งหนา เจริญเติบโตทางยอด เป็นกล้วยไม้ชอบแสงมาก ให้ ดอกในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน ดอกมีขนาดเล็ก สีส้มอ่อนไปจนถึงส้มจัด บางชนิดจัดมากจนเกือบ แดงก็มี ลักษณะดอกชูก้านตั้งขึ้น มักให้ช่อดอกมากกว่า 2 ช่อเสมอด้วยเหตุนี้จึงเป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่ายให้ดอกง่าย และดก เข็มแสด จึงถูกนำไปผสมเป็นลูกผสมกับกล้วยไม้อื่น ๆ มากมาย เพื่อให้ได้ลูกที่มีสีสันสด ให้ดอกดกและแทงตาดอกเก่ง เหมือนดั่ง เข็มแสด นั่นเอง เข็มแสด พบได้ในป่าเบญพรรณ และป่าดิบแล้งในไทย ยกเว้นภาคตะวันตกที่เดียวที่ไม่พบ กล้วยไม้ชนิดนี้อยู่



สิงโตพัดแดง  สิงโตพัดโบก ( Cirrhopetalum curtisii)
ลักษณะกล้วยไม้ สิงโตพัดแดง มีลำลูกกล้วยขนาดเล็ก รูปไข่ยอดแหลม ซึ่งเกิดระหว่างไหลช่วงระยะห่าง o.๕ - ๑ ซม.ขนาดลำลูกกล้วยมีขนาดโดยเฉลี่ย สูงประมาณ ๑.๕ ซม. กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. มีใบเดี่ยวยาวรี กว้าง ๒-๓ ซม. ใบยาวประมาณ ๙- ๑๓ ซม. ก้านดอกเล็กเรียวยาว๗-๑๔ ซม. ก้านดอกสีม่วงอมแดง เกิดจากตาดอกที่โคนลำลูกกล้วย มีดอกขนาดเล็ก สีตั้งแต่ม่วงแดงอ่อนๆไปจนถึงสีเข้มจัด มีดอกในช่อจำนวน ๑๒ดอกหรืออาจมากกว่านั้น ที่กลีบปากมีสีเหลืองสด ขาดของดอกแต่ละดอกมีกลีบกว้างประมาณ ๑-๑.๕ ซม. ในสายพันธุ์ ย่อย ลูเทสเซ็นส์ (var. lutescens) กลีบดอกจะมีสีเหลืองครีมอ่อนทั้งดอก และมีกลีบปากสีเหลืองส้มเข้ม ดอกบานนาน ประมาณ ๕-๗ วัน ที่กลีบดอกล่างรูปพัด จะมี เมือกเหลวใสๆลักษณะคล้ายไข่ขาว เคลือบอยู่ทั่วผิวหน้าของกลีบ




                                               เอื้องสายหลวง ( Dendrobium anosmum )
 เอื้องสายหลวง Den. anosmum เป็นกล้วยไม้สกุลหวายอีก ชนิดหนึ่งที่มีความสวยงามโดดเด่นไปจากสกุลหวายชนิดอื่น ๆ เนื่องจาก สายหลวง เป็นหวายที่มำลำต้นเมื่อโตเต็มที่แล้วจะมี ขนาดใหญ่โต ความยาวของลำลูกกล้วยสามารถยาวได้มากกว่า 2 เมตร เมื่อถึงฤดูกาลให้ดอก สายหลวง จะให้ดอกพลั่งพลูตลอด ลำเป็นที่ตรึงตาตรึงใจของนักเลี้ยงหลาย ๆ คน และด้วยรูปร่างที่ ใหญ่มหึมาของกล้วยไม้สกุลหวายชนิดนี้นี่เอง มันจึงได้รับชื่อสม ยานามว่า สายหลวง
 
 
เอื้องสายล่องแล่ง ( Dendrobium aphyllum)

เอื้องสายล่องแล่ง จัดอยู่ในกลุ่มกล้วยไม้สกุลหวาย ( Dendrobium ) เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยที่พบเห็นได้ทุกภาคพื้นที่ในประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เอื้องสายล่องแล่ง จึงได้รับอีกชื่อหนึ่งว่า เอื้องสายเชียงใหม่ และยังมีอีกหลาย ๆ ชื่อ อาทิเช่น เอื้องสายนกกระจิบ เอื้องสายไหม เป็นต้น
ลักษณะนิสัยที่ชอบแตกกอง่าย และให้ลำลูกกล้วยที่เรียวยาวเป็นแนวดิ่งลงสู่พื้นดินนั้น เมื่อถึงเวลาให้ดอก เอื้องสายล่องแล่ง มักจะให้ดอกพลูตั้งแต่โคนต้นไปจนถึงปลายสุด ทำให้ เอื้องสายล่องแล่ง ยามให้ดอกนั้น มองดูราวกับผืนม่านขนาดใหญ่ปกคลุมบนยอดไม้สูง สง่า งดงาม อย่างที่หาเปรียบไม่ได้
นอกจากนี้ เอื้องสายล่องแล่ง ยังเป็นกล้วยไม้ที่ชอบร้อนมากอีกเสียด้วย ด้วยนิสัยที่ชอบอากาศร้อนจัดนี่เองทำให้ เอื้องสายล่องแล่ง สามารถผลิดอกบานได้ในทุกภาคพื้นที่ในประเทศไทยเรานั่นเองครับ
เอื้องสายล่องแล่ง มักจะให้ดอกในฤดูร้อนในช่วงเดือน มีนาคม - พฤษภาคม ดอกของ เอื้องสายล่องแล่ง มีลักษณะเกือบจะคล้ายคลึงกับ เอื้องสายน้ำผึ้ง แต่ต่างกันออกไปตรงที่ เอื้องสายล่องแล่ง ปากของเขานั้นจะเล็กกว่า และไม่บานกว้างออก กลีบสีม่วงของ เอื้องสายล่องแล่ง จะมีขนาดใหญ่กว่า ในขณะที่กลีบของเอื้องสายน้ำผึ้งจะมีขนาดเล็กเรียวและทรงรี สีสันของกลีบ เอื้องสายล่องแล่ง นั้นมีสีม่วง บางครั้งก็เป็นสีม่วงอ่อน ๆ ปากของ เอื้องสายล่องแล่ง มีลักษณะสีครีม ผิวกลีบมองดูอ่อนนุ่มละมุน
 
 
 
เอื้องคำ ( Dendrobium chrysotoxum )
เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย โดยมากพบบนคาคบไม้ ลำต้น โคนเล็กลำลูกกล้วยป่องตรงกลาง เป็นรูปกระสวย สูงประมาณ๑๕-๓๐ ซม. พื้นผิวลำลูกกล้วยมักเป็นร่องหรือ หลายร่อง มีสีเหลือง หรือบางครั้ง สีเหลืองเข้ม เจือน้ำตาลแดง ใบ เกิดที่ปลายรูปไข่ สีเขียวเข้ม มีประมาณ ๒-๕ใบ ใบยาวประมาณ๑๐-๑๕ ซม. ดอก ออกเป็นช่อ จากตาดอกบริเวณส่วนปลายลำลูกกล้วย ก้านดอกแข็ง มักห้อยโค้ง ลง หรือชี้ไปทางด้านข้าง ช่อดอกยาวประมาณ ๒๐-๓๐ ซม. กลีบดอกสีเหลืองสด มีแต้มสีเหลืองเข้มปนน้ำตาลเรื่อๆ อยู่ส่วนในของ กลีบปากบริเวณสองข้างของแผ่นกลีบปาก ( side lope ) ขนาดดอกประมาณ ๕ ซม. ฤดูดอก กุมภาพันธ์-พฤษภาคม
 
 

เอื้องแววมยุรา ( Dendrobium fimbriatum Hook )
สังเกตุที่ลำลูกกล้วย จะมีลักษณะยาวเรียวเป็นแท่งโคนลำเล็ก ๆ มีความ ยาวราว ๆ 60-120 ซม. ลำจะมีสีน้ำตาลอ่อนปนเหลือง ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่รีสีเขียวสดเรียงกันเป็นรูปขอบขนาน สลับซ้ายขวา เมื่อถึงฤดูร้อน ราว ๆ เดือน มีนาคม-มิถุนายน ลำของ เอื้องแววมยุรา ที่ทิ้งใบไปก่อนหน้านี้จะเริ่มแทงดอก โดยดอก ของ เอื้องแววมยุรา จะแทงตรงบริเวณยอดลำ ช่อของดอกจะห้อยยาวลงมา ในหนึ่งช่อ จะให้ดอกประมาณ 10-12 ดอก สีของดอกมีสีเหลืองสด หรือเหลืองอมส้ม ปากมีแต้มสีดำเข้ม หรือบางครั้งอาจพบต้นที่ไม่มีแต้มดำ ริมขอบด้าน นอกของ เอื้องแววมยุรา จะมีลักษณะค่อนข้างแตกต่างจากช้างน้าวคือมีขนหยักเป็นเส้นหยาบ ๆ นั่นเอง
    ถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติในประเทศไทย: ป่าดิบเขา, ป่าดิบแล้ง, ป่าเบญจพรรณ ในภาคเหนือและ ภาคตะวันตก (แนวเทือกเขาตะนาวศรี) (ตัวอย่างสถานที่ ที่พบที่ถูกบันทึกไว้ ในเอกสารวิชาการในช่วงระยะแรกๆ): แม่ฮ่องสอน น่าน ดอยม่อนอังเกตุ ฝาง เชียงดาว สุเทพ, อุ้มผาง กม. ที่๒๘-๓๑(๖๐๐ ม.) ท่าขนุน(๔๐๐ม.) ดอยสะเก็ด
 

หวายตะวันตก Dendrobium fytchianum

กล้วยไม้ทรงขนาดกลาง มีดอกพลั่งพลูสีขาวปากแดงราวกับถูกแต่งแต้มด้วยเครื่องสำอางชนิดนี้มีชื่อว่า หวายตะวันตก เขาเป็นกล้วยไม้ที่อวดทรงชูดอกได้น่ารักน่าชังชนิดหนึ่งเลยละครับ และชื่อของ หวายตะวันตก นั้นก็มีที่มาจากถิ่นกำเนิดของเขานั่นเอง ในไทยเราก็คงจะพบได้ทางแถบภาคตะวันตกแถว ๆ แถบชายแดนไทยพม่า แต่ที่แม่ค้าพ่อขายทั้งหลายแบกไม้กำมาจำหน่ายคงหาบมาจากทางพม่ามากกว่า เนื่องจากในไทยเรา หวายตะวันตก ในธรรมชาติเหลือลดน้อยลงจนอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้...
   อุปนิสัยส่วนตัวของ หวายตะวันตก นั้น ชอบแสงแดดที่ไม่ร้อนแผดเผาไหม้จนเกินไป อุณหภูมิราว ๆ 30 - 34 องศากำลังดีสำหรับเค้าครับ และเนื่องจากเค้าเป็นกล้วยไม้ที่มีรูปทรง ค่อยข้างผอมเพียว ลำของ หวายตะวันตก โดยเฉพาะตรงโคนต้นจะมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับหัวเข็มหมุด ดังนั้น เค้าจึงเป็นกล้วยไม้ที่ไม่ค่อยชอบเครื่องปลูกชื้นแฉะนัก .... ใช่แล้วครับ หวายตะวันตก ชอบที่แห้ง ๆ มากกว่าแฉะ ๆ นักเลี้ยงหลายท่านอาจพบเจอกับปัญหา โคนต้น หวายตะวันตก เน่า หักง่าย นั่นก็เพราะรดน้ำเกินไป เครื่องปลูกชื้นไปหรือแฉะไปนั่นเอง ดังนั้นควรพึงระวัง เนื่องจากน้องนางเดินทางมาจากดินแดนถิ่นแห้งแล้ง อย่าขยันรดน้ำจนเกินไป มิฉะนั้นเจ้าหล่อนจะสำลักตาย
 
 
 

เอื้องสายม่วง สายครั่งยาว Dendrobium lituiflorum

เอื้องสายม่วง บางท่านเรียกกันว่า สายครั่งยาว มีแหล่งกระจายพันธุ์ใน ไทย พม่า ลาว และ อินเดีย ขึ้นอยู่บนความสูงที่ระดับ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ในประเทศไทยมีบันทึกไว้ว่าพบ สายม่วง ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบริเวณป่าดิบและป่าสนเขา สำหรับสีสันของ สายม่วง นั้น มีทั้งสีม่วงเข้มไปจนถึงม่วงอ่อน ๆ บางครั้งเรามักพบ สายม่วง ที่มีปากเป็นสีเหลืองหรือดำ แทนที่จะเป็นสีม่วงเข้มแทน เช่นเดียวกับเอื้องสายชนิดอื่น ๆ สายม่วง จะผลัดใบทิ้งเมื่อเริ่มเข้าฤดูหนาว และพักตัวอยู่อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงฤดูร้อน ราว ๆ ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน ถึงจะมีดอกให้ชม นับว่าใช้เวลาพักตัวอยู่นานถึง 2 - 4 เดือนเลยทีเดียว สำหรับ สายม่วง ของผมนั้น จะเริ่มทยอยทิ้งใบในช่วงเดือน 11 และพักตัวยาวไปจนถึงปลายเดือน กุมภาพันธ์ ในช่วงเดือนนี้เอง ที่ สายม่วง เริ่มปรากฏตาดอกเห็นได้ชัดขึ้น ตาดอกนี้จะใช้เวลานานมากทีเดียวกว่าจะกลายเป็นช่อดอกเล็ก ๆ ชูทรวดทรงออกมา เมื่อเริ่มเข้าสู่กลางเดือน มีนาคม สายม่วง จะเริ่มแทงช่อตูมออกมาจากลำแต่ละข้อ และค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นพร้อมเบ่งบานในช่วงเดือน เมษายน ต้อนรับฤดูกาลแห่งคิมหันต์ ดอกของ สายม่วง นั้นมีกลิ่นหอมเบา ๆ แต่ชวนให้หลงไหลและเย้ายวน
 
 
 
เอื้องผึ้ง ( Dendrobium lindleyi )
 
เอื้องผึ้ง จัดอยู่ในสกุลของ Dendrobium ในประเทศไทยนิยมเรียกสกุลนี้ว่า หวาย หรือ เอื้อง ซึ่งนับเป็นสกุลที่ใหญ่ที่สุดของวงศ์กล้วยไม้อีกทั้งยังเป็นสกุลที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 1840 เอื้องผึ้ง ถูกค้นพบครั้งแรกทางภาคเหนือของประเทศพม่า โดย Ernst Gottlieb von Steudel เป็นผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อระบุชนิดนั้นตั้งให้เป็นเกียรติแด่ Sir John Lindley
ด้วยลักษณะกลิ่นหอมหวานอันพิเศษราวกับน้ำผึ้ง เอื้องผึ้ง จึงถูกขนานนามอีกชื่อว่า Honey fragrant ซึ่งกลิ่นของมันได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักสกัดกลิ่น เพื่อนำไปใช้เป็นน้ำหอมอันล้ำค่าในยุคปัจจุบันเอื้องผึ้ง จะให้ดอกเร็วกว่าเอื้องคำ ดอก เอื้องผึ้ง จะออกดอกในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ดอกมีกลิ่นหอมแรงในช่วงกลางวัน สีเหลืองสดใส ช่อห้วยย้อยชลงยาวตั้งแต่ 15-40 ซ.ม. มีจำนวนดอกไม่แน่นจนเกินไปและพลิ้วไหวได้ง่ายยามต้องลม ดอกบานเต็มที่ขนาด 2-3 ซ.ม. แรกบานจะมีสีเหลืองอมเขียว ระยะต่อ ๆ มาสีจะเข้มขึ้น จนเป็นสีเหลืองอมส้มแสด
ดอกของ เอื้องผึ้ง บานได้นานสุดราว ๆ 4 - 5 วันนับจากวันที่บานได้เต็มที่แล้ว แต่หากดอกของเอื้องผึ้งถูกน้ำจะบานได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น